การดำเนินโครงการ ของ วิทยาลัยอาชีวศึกษาเทคโนโลยีฐานวิทยาศาสตร์ (ชลบุรี) สถาบันการอาชีวศึกษาภาคตะวันออก

โครงการนี้ ถือเป็นโครงการใหม่ของสำนักงานคณะกรรมการการอาชีวศึกษา(สอศ.) เพื่อบ่มเพาะนักเรียนระดับ ปวช. ที่มีศักยภาพด้านการประดิษฐ์คิดค้นเชิงเทคโนโลยี โดยเริ่มดำเนินการตั้งแต่ปีการศึกษา 2551 ใช้รูปแบบของห้องเรียนพิเศษในสถานศึกษาที่มีอยู่เดิม (school in school) และนำร่องแห่งแรกที่ “วิทยาลัยอาชีวศึกษาเทคโนโลยีฐานวิทยาศาสตร์(ชลบุรี)” การดำเนินการในช่วงแรกจำเป็นต้องเตรียมความพร้อมหลายด้าน และยังมีข้อจำกัดอยู่หลายประการ แต่หลายฝ่ายที่เกี่ยวข้องทั้งในส่วนของผู้บริหาร สำนักงานคณะกรรมการการอาชีวศึกษา ผู้ทรงคุณวุฒิ และหน่วยงานพันธมิตรจากภายนอก เช่น สถาบันอุดมศึกษา สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ สำนักงานคณะกรรมการนโยบายวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี และนวัตกรรมแห่งชาติ รวมทั้ง การทุ่มเทของผู้บริหารและบุคลากรของวิทยาลัยฯ จนสามารถการสามารถขับเคลื่อนได้ในปีการศึกษา 2551 โดยมีรายละเอียดดังต่อไปนี้

การกำกับดูแลโครงการ

มีคณะกรรมการและคณะอนุกรรมการ จำนวน 4 ชุด เพื่อกำกับดูแลโครงการในด้านต่างๆ ทั้งด้านนโยบาย การบริหารจัดการ และวิชาการ ดังนี้

  1. คณะกรรมการอำนวยการจัดตั้งและขยายจำนวนโรงเรียนเทคโนโลยีฐานวิทยาศาสตร์ เพื่อกำหนดนโยบาย ทิศทางการจัดตั้งและขยายจำนวนโรงเรียน รวมทั้งจัดหา ระดมทรัพยากรสนับสนุน และกำหนดหลักเกณฑ์การใช้จ่ายเงิน (ประธาน คุณเขมทัต สุคนธสิงห์)
  2. คณะกรรมการบริหารโครงการจัดตั้งโรงเรียนเทคโนโลยีฐานวิทยาศาสตร์นำร่อง เพื่อดำเนินการจัดตั้งโรงเรียนฯ และบริหารจัดการโครงการให้เป็นไปตามเป้าหมาย (ประธาน เลขาธิการ สอศ.)
  3. คณะกรรมการวิชาการโครงการจัดตั้งโรงเรียนเทคโนโลยีฐานวิทยาศาสตร์นำร่อง เพื่อพัฒนาและจัดทำหลักสูตร รวมทั้งประสานกับสถาบันอุดมศึกษาในด้านการศึกษาต่อของนักเรียนในโครงการ (ประธาน ดร.กฤษณพงศ์ กีรติกร)
  4. คณะอนุกรรมการพัฒนาหลักสูตรโรงเรียนเทคโนโลยีฐานวิทยาศาสตร์นำร่อง เพื่อพัฒนาหลักสูตร แผนการเรียนการสอน และหลักเกณฑ์การรับนักเรียน (เป็นคณะอนุกรรมการภายใต้คณะกรรมการวิชาการฯ)(ประธาน รศ.ดร.สมชาย จันทร์ชาวนา)

คณะกรรมการชุดที่ 1-3 แต่งตั้ง โดยรัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ (นายวิจิตร ศรีสอ้าน เป็นรัฐมนตรีในขณะนั้น) และคณะอนุกรรมการชุดที่ 4 แต่งตั้ง โดยคณะกรรมการวิชาการฯ สำหรับการจัดประชุมคณะกรรมการ/คณะอนุกรรมการ

ที่ปรึกษาทางวิชาการ

วิทยาลัยฯ ได้ร่วมมือกับมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี เป็นที่ปรึกษาด้านวิชาการ สำหรับการเรียนการสอนแบบ Project-based teaching and learning และให้คำปรึกษาแก่ครูของวิทยาลัยที่เป็นครูพี่เลี้ยงในการทำโครงงาน

บทบาทของมหาวิทยาลัยพี่เลี้ยง

  • พัฒนารูปแบบการเรียนการสอนวิชาโครงงาน PjBL
  • พัฒนาหลักสูตรการฝึกอบรมนักเรียนและพัฒนาครู
  • พัฒนาแผนและรูปแบบการจัดกิจกรรมพัฒนานักศึกษา
  • ให้คำปรึกษาในการแก้ปัญหาการดำเนินงานของวิทยาลัยฯ (ทุกๆ 2 สัปดาห์)
  • ออกแบบวิธีการและร่วมคัดเลือกนักศึกษาใหม่
  • ให้คำปรึกษาโครงการพิเศษอื่นๆ ของวิทยาลัยฯ
  • สนับสนุนการประชาสัมพันธ์โครงการโรงเรียนเทคโนโลยีฐานวิทยาศาสตร์
  • ร่วมเป็นกรรมการสอบโครงงานของนักศึกษาในรายวิชาโครงงาน

การจัดการเรียนการสอน

เป็นลักษณะของโรงเรียนประจำ เพื่อให้สามารถพัฒนาศักยภาพของนักเรียนได้อย่างเต็มที่และเข้มข้น โดยมีการจัดกิจกรรมการเรียนการสอนทั้งในเวลาเรียนและนอกเวลาเรียน นอกจากนี้ ยังมีการให้คำปรึกษาเพิ่มเติมในรายวิชาต่างๆ และการทำโครงงาน วิชาในกลุ่มวิชาสามัญ อาทิ ภาษาไทย สังคมศึกษาฯ ศิลปฯ และวิชาชีพ สอนโดยครูของวิทยาลัยฯ สำหรับวิชาคณิตศาสตร์ วิทยาศาสตร์ (ฟิสิกส์ เคมี ชีววิทยา) และวิชาชีพบางวิชา สอนโดยคณาจารย์จากสถาบันอุดมศึกษา (ตารางที่ 3) และมีครูพี่เลี้ยงเป็นจุดเชื่อม คอยชี้แนะ ถ่ายทอด ให้คำปรึกษา ทบทวนบทเรียนให้กับนักเรียน และกระตุ้นให้นักเรียนนำความรู้ด้านวิทยาศาสตร์และคณิตศาสตร์ไปเชื่อมต่อทักษะด้านวิชาชีพ เพื่อพัฒนาไปเป็นโครงงานในภาคเรียนต่อๆ ไป นอกจากนี้ ยังมีการเชิญครูชาวต่างประเทศมาสอนวิชาภาษาอังกฤษ เพื่อพัฒนาทักษะการใช้ภาษาต่างประเทศให้กับนักเรียน

บุคลากร

บุคลากรที่เกี่ยวข้องกับโครงการฯ สามารถจำแนกได้เป็น 2 กลุ่มหลัก คือ บุคลากรภายในวิทยาลัย และบุคลากรจากภายนอก โดยบุคลากรจากภายนอกจะให้การสนับสนุนด้านการจัดการเรียนการสอนในรายวิชาที่ไม่ใช่ความเชี่ยวชาญของวิทยาลัย โดยเฉพาะรายวิชาด้านวิทยาศาสตร์ (ฟิสิกส์ เคมี ชีววิทยา) คณิตศาสตร์ และวิชาชีพขั้นสูง สำหรับบุคลากรภายในจะมีภาระหน้าที่ที่เกี่ยวข้อง 3 ด้าน คือ

  • ครูผู้สอน: เป็นผู้สอนในรายวิชาชีพ และวิชาสามัญ
  • ครูพี่เลี้ยง: เพื่อสร้างเสริมกระบวนการเรียนรู้และการคิดวิเคราะห์ของนักเรียน เพื่อให้สามารถบูรณาการความรู้ทั้งด้านวิชาการและทักษะวิชาชีพเข้าด้วยกัน รวมทั้งให้คำปรึกษาในการทำโครงงานภายใต้การเรียนการสอนแบบ project-based teaching and learning โดยประสานกับครูผู้สอนของวิทยาลัยฯ และอาจารย์จากภายนอก
  • ครูที่ปรึกษา: เพื่อดูแลชีวิตความเป็นอยู่ของนักเรียนทั้งในหอพักและที่วิทยาลัยฯ ให้คำปรึกษาด้านชีวิตส่วนตัว เพื่อให้นักเรียนมีความรู้สึกอบอุ่น สามารถปรับตัวและใช้ชีวิตอยู่ร่วมกับเพื่อนได้จนจบหลักสูตร

ทั้งนี้ บุคลากรภายในวิทยาลัยฯ แต่ละคน อาจจะปฏิบัติภาระหน้าที่ในโครงการเพียงหน้าที่ใดหน้าที่หนึ่ง หรือหลายหน้าที่ก็ได้ ขึ้นกับความพร้อมและศักยภาพของแต่ละบุคคล ครูพี่เลี้ยงที่ได้รับการบรรจุเป็นครูผู้ช่วย เพื่อทำหน้าที่ดูแลนักเรียนในโครงการ และได้เข้ารับการอบรมการเรียนการสอนแบบ project-based teaching and learning ที่มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี มีการศึกษาดูงานในสถานที่ต่างๆ นอกจากนี้ วิทยาลัยฯ ได้จัดให้ครูพี่เลี้ยงเข้าพักอาศัยในสถานที่ที่วิทยาลัยฯ จัดไว้เพื่อความสะดวกในการดูแลนักเรียน และมอบหมายให้ร่วมสอนในลักษณะ team teaching กับอาจารย์ผู้สอนจากมหาวิทยาลัย ทั้งนี้ ครูพี่เลี้ยงจะต้องได้รับการประเมินภาระงานหน้าที่ตามระเบียบของ ก.ค.ศ. ในส่วนของครูพี่เลี้ยงที่ได้รับการบรรจุใหม่ ทางวิทยาลัยฯจะดำเนินการเหมือนกันเพื่อให้เป็นไปตามวัตถุประสงค์ของโครงการฯ

แหล่งที่มา

WikiPedia: วิทยาลัยอาชีวศึกษาเทคโนโลยีฐานวิทยาศาสตร์ (ชลบุรี) สถาบันการอาชีวศึกษาภาคตะวันออก http://social.eduzones.com/nuihappy/6986 http://www.electron.rmutphysics.com/teaching-gloss... http://www.mwit.ac.th/webboardnew/viewtopic.php?t=... http://www.sbtvc.ac.th/ http://www.sbtvc.ac.th http://boc.vec.go.th/datas/open.php?id=00058 http://portal.in.th/scitalk/pages/122/ https://www.facebook.com/sciencebasedtechnology https://www.youtube.com/watch?v=Nme9fAEnESY